ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองราชบุรี

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองราชบุรี เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเป็นที่เคารพและศรัทธาของชาวเมืองราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียงที่มากราบไหว้สักการะ "เสาหลักเมือง" หรือ "เจ้าพ่อหลักเมือง"จนเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมา มีการจัดงานสมโภชศาลเจ้าพ่อหลักเมืองทุกปี คนราชบุรีจะเรียกว่า "งานฝั่งทหาร" เพราะตัวเมืองราชบุรีอยู่คนละฝั่งแม่น้ำแม่กลองกับค่ายภาณุรังษี และในปี พ.ศ. 2560 ได้จัดให้มีการสมโภช 200 ปี ศาลหลักเมืองราชบุรีระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2560

หลักเมืองราชบุรี เมืองราชบุรี เป็นหัวเมืองสำคัญในทางยุทธศาสตร์ด้านตะวันตกมาตั้งแต่อดีต ด้วยเป็นชายแดนที่เป็นหน้าด่านที่สำคัญในการเดินทัพ และการรบระหว่างไทยกับพม่ามาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์  ในสมัยรัตนโกสินทร์มีหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับหลักเมืองและการสร้างเมืองที่ปรากฎใน "กลอนไดอรี่ซึมทราบกับตามเสด็จไทรโยค" พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า โปรดให้พิมพ์ประทานช่วยพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์เจ้าหญิงผ่อง ในงานทรงบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษาครบ 60 ปีบริบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ.2470 (หน้า 277-284) 

จากบทพระราชนิพนธ์นี้ ทำให้เห็นถึงสภาพบ้านเมืองราชบุรีที่ไม่ทราบประวัติเรื่องการย้ายเมืองที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าคงสร้างเมืองใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยยกเมืองมาตั้งทางฝั่งตะวันออก เมืองมีขนาดยาว 20 เส้น กว้าง 5 เส้นเศษ มีป้อม 6 ทิศ ประตู 6 ช่อง พื้นที่ในเมืองลุ่มมาก กำแพงเมืองเป็นกำแพงอิฐ หนา 7 ศอก สูง 7 ศอก ก่อพอกแล้วอัดดินด้านใน ปลายกำแพงเป็นเสมาอย่างไทย หลักเมืองเป็นเสาไม้แก่น มีพระพิฆเนศวร์สององค์ใหญ่ตั้งอยู่ มีเครื่องบูชา แสดงถึงเป็นที่คนนับถือ ทางซ้ายมือมีฉางข้าว 2 หลังงเป็นฉางหลวงของกระทรวงนา บ้านเจ้าเมืองอยู่เยื้องไปทางทิศตะวันตก ในเมืองมีสระน้ำขนาดใหญ่ เป็นน้ำที่ใช้อาศัยภายในเมือง ในกำแพงเมืองมีคนอยู่ไม่มาก พื้นที่เป็นที่ลุ่มสามารถทำนาได้ดี

นอกจากนี้ พบเอกสารหลักฐานและภาพถ่ายศาลหลักเมืองราชบุรีเป็นหลักฐานชั้นต้นเก่าที่สุด ปรากฎในหนังสือ "สมุดราชบุรี พ.ศ. 2468" พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงจัดให้มีพิธีฝังหลักเมือง มีการสมโภช 3 วัน 3 คืน เริ่มตั้งแต่วันอังคาร แรม 13 ค่ำ เดือน 6 ปีฉลู จุลศักราช 1179 พ.ศ.2360 จนถึงวันพฤหัสบดี แรม 15 ค่ำ เวลา 7 นาฬิกา ถึงกำหนดฤกษ์ฝังหลักเมือง ส่วนรูปแบบการฝังหลักเมือง ไม่ปรากฎหลักฐานที่แน่ชัด จึงเทียบเคียงการฝังหลักเมืองสมุทรปราการ เมื่อปี พ.ศ.2365 ซึ่งเป็นหลักเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ร่วมสมัยกับหลักเมืองราชบุรี

ขอบคุณที่มา สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี ในโอกาสทำบุญเมือง 207 ปี พ.ศ.2567
 


image รูปภาพ
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar