การพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ

หลายคนอาจเข้าใจว่า รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก หรือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นเพียงระบบรางเชื่อมสนามบินดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา และเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เท่านั้น

ทว่ายังมีสิ่งอื่นที่น่าสนใจอีกมาก รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ผลักดันโครงการนี้ เล็งเห็นผลประโยชน์ในอีกหลายด้านที่จะตามมา เช่น การจ้างงานในอุตสาหกรรมต่อเนื่องกว่า 1 แสนตำแหน่ง เกิดเมืองใหม่ที่เป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ smart city ตามสองข้างทางที่รถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่าน สามารถเชื่อมต่อภูมิภาคอาเซียนได้ เป็นต้น

รู้จักเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ อีกครั้ง

เส้นทางของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะมีระยะทางรวม 220 กม. แบ่งเป็น ทางวิ่งยกระดับ 211 กม. ทางวิ่งระดับพื้นดิน 1 กม. และทางวิ่งใต้ดิน 8 กม. วิ่งผ่าน 5 จังหวัด กทม. สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีสถานี 9 สถานี ได้แก่ สถานีสนามบินดอนเมือง สถานีกลางบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสนามบินสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีสนามบินอู่ตะเภา

ขนาดของรางจะอยู่ที่ 1.435 เมตร เท่ากันกับรางของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ดังนั้นรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินใช้รางร่วมกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ได้ จึงจะมีเส้นทางเดินรถรวมกันระหว่างโครงสร้างของระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เดิม กับส่วนต่อขยาย 2 ช่วงที่จะสร้างขึ้น คือ ช่วงสถานีพญาไทไปยังสนามบินดอนเมือง และช่วงสถานีลาดกระบังไปยังสนามบินอู่ตะเภา โดยการเดินรถจะตั้งต้นที่สถานีสนามบินดอนเมือง เดินทางด้วยรถไฟฟ้าธรรมดา(City Line) วิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีมักกะสัน แล้วไปยังสถานีสุวรรณภูมิ ด้วยความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. จากสถานีสนามบินสุวรรณภูมิ เปลี่ยนขบวนเป็นรถไฟความเร็วสูง (HSR) ใช้ความเร็ว 250 กม./ชม. วิ่งตามแนวรถไฟสายตะวันออก เข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา ผ่านแม่น้ำบางปะกง สู่สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา ลอดอุโมงค์ช่วงเขาชีจรรย์แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา

โดยจะเป็นการเดินรถของผู้ประกอบการรายเดียว ใช้เวลาเดินทางรวมทั้งหมด 1 ชั่วโมง จึงจะเป็น 1 ชั่วโมงของการเดินทางเชื่อมทางอากาศกับระบบรางแบบไร้รอยต่อนั่นเอง

ประโยชน์ที่มากกว่าเชื่อม 3 สนามบิน

นอกจากจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักเชื่อมการเดินทางระบบรางกับทางอากาศระหว่าง 3 สนามบิน เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักใน EEC และเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิเอชีย-แปซิฟิก แล้ว รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อนี้ จะมาพร้อมกับโครงการพัฒนาพื้นที่ตลอดสองข้างทางรถไฟฯ ให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือSmart City โดยเฉพาะในเขตEEC ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง อันจะนำมาซึ่งความเจริญของพื้นที่ภาคตะวันออก เป็นการกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น ลดปัญหาความแออัดในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งยังเป็นการสร้างงานใหม่ และรายได้ให้กับประชาชน

จากการคาดการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ผลตอบแทนที่ประเทศจะได้จากการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อมีดังนี้

การจ้างงาน จะทำให้เกิดการจ้างงานจากการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมด้านการขนส่ง อุตสาหกรรมการเดินรถไฟความเร็วสูง อุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจใหม่ๆ ในเมืองอัจฉริยะที่จะเกิดขึ้น รวมไม่น้อยกว่า 1 แสนตำแหน่งใน 5 ปี และเกิดการจ้างงานในภาคแรงงานการก่อสร้างไม่น้อยกว่า 16,000 อัตรา รถไฟความเร็วสูงฯ จึงช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ กระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่นอย่างมั่นคง

ด้านการท่องเที่ยว สนามบินอู่ตะเภาจะกลายเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของประเทศ จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคนใน 5 ปีแรก 30 ล้านคนใน 10 ปี และ 60 ล้านคนใน 15 ปี รองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกในรูปแบบเดียวกับสนามบินนาริตะเข้ากรุงโตเกียว ของญี่ปุ่น และ สนามบินอินชอนเข้ากรุงโซล ของเกาหลีใต้ ดังนั้นรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามายังไทยได้มากขึ้นตรงตามเป้าของแต่ละสนามบินและส่งผลดีต่อการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับประเทศ

เดินทางสะดวก โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินถูกออกแบบให้เดินทางได้โดยสะดวก ไร้รอยต่อ ลดปัญหาการตกเครื่อง (Transit Delay) ลดต้นทุนการเดินทาง ลดอุบัติเหตุ ลดมลพิษ ลดความแออัดของกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งการเดินทางที่ล้ำสมัยสะดวกรวดเร็วขึ้นนี้ยังจะช่วยจูงใจนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นด้วย

เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 50ปี ทรัพย์สินทั้งหมดมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาทจะตกเป็นของรัฐ เป็นประโยชน์ที่กลับสู่ประเทศอย่างถาวร

สถานะล่าสุดของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

แม้จะมีประโยชน์มากมายหลายด้านดังที่กล่าวมา แต่โครงการนี้ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง เพราะนับตั้งแต่ปี2562 ที่มีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชน ต่อมาก็ได้รับผลกระทบด้านแรงงานและเศรษฐกิจชะงักจากการล็อกดาวน์ช่วงโควิดระบาดหนัก, ปัญหาการเวนคืนที่ดินก่อสร้าง ,ปัญหาการแบ่งจ่ายค่าใช้สิทธิรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่ยังไม่ลงตัว ,ปัญหาเส้นทางทับซ้อนบางช่วงกับรถไฟความเร็วสูงสายอีสาน จนนำมาสู่การแก้ไขสัญญา อย่างไรก็ตามปัญหาต่างๆได้คลี่คลายเกือบหมดแล้ว จึงคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้บางช่วงภายในปีนี้และจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2572

ทั้งนี้รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการพัฒนาระบบรางตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 และอยู่ในแผนยุทธศาตร์ชาติ 20ปี พ.ศ.2561-2580 เมื่อสร้างเสร็จสามารถเชื่อมต่อกลุ่มประเทศ CLMV ( กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) เข้ากับจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ เชื่อมต่อไปยังภูมิภาคอื่นๆทั่วโลกได้ เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และรถไฟความเร็วสูงสายใต้ของไทย(มีเป้าหมายสร้างในอนาคต)

เมื่อถึงจุดที่สามารถเชื่อมต่อกับหลาย ๆ ประเทศได้สำเร็จ กอปรกับประโยชน์นานัปการที่จะเกิดขึ้นจากภายในประเทศดังที่กล่าวมาแล้ว จึงเรียกได้ว่า รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก จะมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯ มากมายมหาศาลกว่าการเชื่อม 3 สนามบิน อย่างแน่นอน

ที่มา สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์


image รูปภาพ
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar