โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริลำดับแรกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โครงการเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ต.ยางหัก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี

.

โครงการเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ต.ยางหัก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่แรกในพื้นที่ภาคกลาง และเป็นโครงการลำดับแรกจากหลายโครงการทั่วประเทศ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตรพื้นที่บริเวณโครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน บ้านไทยประจัน ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี และโครงการสวนป่าสิริกิติ์ บ้านห้วยม่วง ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2534 ได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาโครงการและก่อสร้างแหล่งน้ำเพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีน้ำในการเพาะปลูก และการอุปโภค บริโภค โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการสนองพระราชดำริ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี จำนวน 6 แห่ง เพื่อกักเก็บน้ำที่ไหลลงมาจากเทือกเขาตะนาวศรี ให้ประชาชนในพื้นที่ใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคได้ตลอดปี

.

อ่างเก็บน้ำทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำห้วยพุกรูด อ่างเก็บน้ำบ้านไทยประจัน อ่างเก็บน้ำเขาหัวแดง อ่างเก็บน้ำหินสีตอนบน อ่างเก็บน้ำบ้านพุกรูด และอ่างเก็บน้ำบ้านโป่งพรหม มีปริมาณน้ำกักเก็บรวมกันถึง 3,278,030 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) รองรับพื้นที่เกษตร 7,300 ไร่ ซึ่งปี พ.ศ. 2542 ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้ว 5 แห่ง เป็นแหล่งน้ำสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกไปแล้วกว่า 6,000 ไร่ ช่วยส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม สร้างฐานะ รายได้ รวมไปถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในพื้นที่

.

โดยในปี พ.ศ. 2562 กรมชลประทานได้รับสนองพระราชดำริก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งที่ 6 ในพื้นที่ ต.ยางหักที่บ้านโปร่งพรหม เป็นอ่างขนาดความจุ 1,064,000 ลบ.ม. สนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 1,700 ไร่ และสนับสนุนน้ำอุปโภคบริโภค 200 ครัวเรือน ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะเป็นการสนองพระราชดำริ ที่ทรงให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำครบทั้ง 6 แห่ง นับแต่ริเริ่มโครงการเมื่อ 30 ปีที่แล้ว กระทั่งปัจจุบันอ่างเก็บน้ำที่ก่อสร้างเสร็จทั้ง 5 แห่ง ได้พลิกผืนดินของ ต.ยางหัก จากพื้นที่แห้งแล้งในฤดูแล้ง กลายเป็นพื้นที่ที่สามารถปลูกพืชผัก ผลไม้ ได้ตลอดทั้งปี สร้างงานสร้างอาชีพ ดึงผู้คนที่เคยอพยพออกไปหางานทำในเมืองใหญ่ กลับมาทำไร่ทำสวนในบ้านเกิด

ที่มากรมชลประทาน


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar